วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สมุนไพรไทยกับโรคความดันสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นอีกหนึ่งโรคยอดนิยมที่คนจำนวนมากมักป่วยกันและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาโรคนี้นั้นนอกจากจะรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและการทานยาควบคู่ไปแล้วนั้น ยังสามารถรักษาได้ด้วยการทานอาหารและการทานสมุนไพรของไทยได้อีกด้วย แถมสมุนไพรที่ว่านี้ หาซื้อได้ง่าย ทานง่าย และไม่ต้องผ่านวิธีการทำที่ยุ่งยาก
สมุนไพรไทยกับโรคความดันสูง thaihealth
ซึ่งสมุนไพรไทยรักษาความดันโลหิตสูงนั้นจะมีอะไรบ้าง และต้องรับประทานอย่างไร ไปดูกันเลย
 1. กระเทียม : อาจารย์คาริน รีด อาจารย์ประจำคณะแพทย์เวชทั่วไป แห่งมหาวิทยาลัยอเดเลด ออสเตรเลีย พบว่า สารสกัดจากกระเทียมสามารถลดความดันโลหิตลงได้ แต่ควรเป็นหัวกระเทียมแก่ เพราะหากเป็นกระเทียมอ่อนหรือกระเทียมที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว จะได้สรรพคุณไม่เทียบเท่ากับหัวกระเทียมแก่
 2. ใบกะเพรา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำให้ผู้ที่มีความดันสูงรับประทานใบกะเพราเป็นประจำ ซึ่งการรับประทานใบกะเพรามีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การนำใบมาเคี้ยวรับประทานสดๆ, นำไปคั้นแล้วผสมกับน้ำอุ่นดื่ม, นำไปตากแห้งเหมือนใบชาแล้วนำมาชงผสมกับชาและดอกคาโมมายด์ หรือจะนำไปผัดกับเนื้อสัตว์แล้วรับประทานเป็นกับข้าวก็ล้วนได้ประโยชน์
 3. กระเจี๊ยบแดง : เนื่องจากในกระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโธไซยานิน (anthocyanins) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง วิธีรับประทานกระเจี๊ยบก็เพียงนำกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบไปตากแห้ง แล้วนำมาบดชงดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน ก็จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้
 4. บัวบก : น้ำใบบก นอกจากจะช่วยแก้อาการช้ำในได้แล้ว ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณในการลดความดัน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำว่าการดื่มน้ำใบบัวบกเป็นประจำทุกวัน จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ แถมเจ้าบัวบกนี้ยังช่วยทำให้หลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยแข็งแรงขึ้น ช่วยคลายเครียดได้ ซึ่งความเครียดนั้นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูง
 5. ตะไคร้ : นอกจากจะมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะและขับลมแล้ว ยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย และกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เนื่องมาจากความเครียดได้ และที่สำคัญตะไคร้ยังเป็นพืชสมุนไพรที่หาง่ายและสามารถปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้
 6. ขึ้นฉ่าย : ขึ้นฉ่าย เป็นสมุนไพรที่ชาวเอเชียนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตต่อเนื่องกันมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนและเวียดนามเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยขึ้นฉ่ายกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต คุมกำเนิด ยับยั้งมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย
7. ฟ้าทะลายโจร : เป็นสมุนไพรที่มากสรรพคุณจนคนที่เคยไม่ชอบมัน อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ โดยเฉพาะสรรพคุณในการลดความดันโลหิต ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรและพบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป
 8. ขิง : เป็นสมุนไพรโบราณที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยย่อยอาหาร แต่ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย ที่สำคัญควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดร้อนในและแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีและรับประทานยาละลายลิ่มเลือดควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้
9. มะกรูด : มะกรูด เป็นสมุนไพรที่มากด้วยสรรพคุณทางยา แถมยังนิยมนำส่วนของใบและน้ำของผลมะกรูดมาใช้ในการทำอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก เภสัชกร 8 วช. ศูนย์บริการการสาธารณสุข ยังได้แนะนำเอาไว้ในหนังสือ สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง ว่ามะกรูดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยลดความดันโลหิดและช่วยต้านเชื้อแบคเรีย โดยการนำใบมะกรูด 7-10 ใบมาต้มน้ำ ดื่มเช้าเย็นเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติได้
10. อบเชย : อบเชย สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหวานชนิดนี้ มีการวิจัยในญี่ปุุ่นพบว่ามันมีสรรพคุณในการช่วยลดความดันโลหิต โดยการนำผงอบเชยสำเร็จรูปหรือนำอบเชยมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำ ดื่มเช้า เย็น และก่อนนอน นอกจากนี้อบเชยยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สมุนไพรลดความดัน แม้ว่าจะดีต่อการลดระดับความดันโลหิตในร่างกายและช่วยรักษาสุขภาพของหลอดเลือดให้แข็งแรงแล้ว แต่ก็ควรเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลต่อร่างกายได้หากใช้ไม่ถูกต้อง และเพื่อให้เป็นผลดีที่สุดต่อร่างกาย คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มนำสมุนไพรเหล่านี้มาช่วยในการลดความดันโลหิต

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นำมาจาก:http://www.thaihealth.or.th/Content/29026-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น